Four Days of Naples
บันทึกการเดินทางช่วงเวลาสี่วัน จากกรุงเทพสู่เนเปิลส์ เพื่อค้นหาช่างฝีมือทำรองเท้าสุภาพบุรุษ Christian Louboutin หลังจากที่ได้เยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตสุดคราฟท์ของแบรนด์ทำให้ตอกย้ำความเชื่อของเราที่ว่า ‘เมดอินอิตาลี’ คือที่สุดของคุณภาพ
ถ้าถามผู้ชายอกสามศอกว่า Christian Louboutin (คริสติยอง ลูบูแตง) คืออะไร หลายคนอาจขมวดคิ้ว ไม่แน่ใจว่าคืออะไร แต่ถ้าคุณถามแฟนสาว หรือเพื่อนผู้หญิงที่ทำงานของคุณแล้วละก็ พวกเธอต้องร้องกรี๊ดเลยทีเดียว เพราะ คริสติยอง ลูบูแตง คือแบรนด์ รองเท้าหรูจากฝรั่งเศสที่ผู้หญิงทั่วโลกๆ คลั่งไคล้กันสุดขีด ชื่อเสียงจากรองเท้าผู้หญิงของแบรนด์นั้นเป็นที่ทราบกันดี แต่หลายคนไม่ทราบว่า คริสติยอง ลูบูแตง ก็ทำรองเท้าผู้ชายด้วยเช่นกัน เริ่มต้นในปี 2011 หลังจากที่ทำแต่รองเท้าผู้หญิงมา 20 ปีเต็ม หลังจากที่เปิดตัวไลน์รองเท้าผู้ชาย ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี จากบรรดาสุภาพบุรุษทั่วโลกตั้งแต่นักธุรกิจในลอนดอน นายธนาคารในวอลล์สตรีท แน่นอนว่ารวมถึงผู้ชายที่รักแฟชั่นเป็นชีวิตจิตใจ และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ คริสติยอง ลูบูแตง ได้เชิญให้ลอปติมัม ไทยแลนด์ บินลัดฟ้าไปยังประเทศอิตาลี เพื่อเยี่ยมชมการผลิตรองเท้าสุภาพบุรุษของ Christian Louboutin ในทุกขั้นตอน ทำไมแบรนด์รองเท้าแฟชั่นฝรั่งเศสอย่าง คริสติยอง ลูบูแตง ถึงพาเรามาที่เนเปิลส์ (Naples) หรือ นาโปลี (ในภาษาอิตาเลียน) เมืองท่าฝั่งตะวันตกของอิตาลี? คำตอบที่ได้ก็คือที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องหนังชั้นดี มีช่างผลิตงานที่สืบย้อนประวัติศาสตร์ไปได้ถึง ยุคสัมฤทธิ์
การเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงนาโปลีกินระยะเวลาพอสมควร แต่ในที่สุดเราก็ถึงจุดหมายอย่างราบรื่น แม้ว่าระหว่างทาง จะมีการประท้วงปิดถนนเพื่อต่อรองการขึ้นค่าแรงของคนขับรถ แต่ดูเหมือนจะเป็นวิถีชีวิตปกติสำหรับคนอิตาลีนาโปลีเป็นเมืองท่าเศรษฐกิจสำคัญของอิตาลี ใหญ่เป็นอันดับสามรองจากกรุงโรมและมิลาน นอกจากนี้ยังเป็นเมืองท่องเที่ยว เต็มไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์สำคัญ หลายคนรู้จักนาโปลีจากตำนานเมืองปอมเปอี ที่ถูกลาวาจากภูเขาไฟทำลายไปเมื่อสองพัน ปีก่อน และพิซซ่าต้นตำรับที่ว่ากันว่าอร่อยที่สุดในโลก แน่นอนสิ่งแรกที่เราทำหลังจากเช็คอินคือตรงดิ่งไปยัง ร้านพิซซ่าที่ถูกปักหมุดว่าเป็นต้นตำรับ ซึ่งก็ไม่ทำให้เราผิดหวังเลย ระหว่างทางมีโอกาสได้เดินเตร็ดเตร่ชมเมือง สังเกตเห็นร้านเครื่องหนังและรองเท้าแบรนด์ท้องถิ่นหลายแห่ง ทำให้หวนนึกถึงวรรณกรรมคลาสสิกของ Elena Ferrante นักเขียนชื่อก้องจากเมืองนาโปลี เจ้าของวรรณกรรม My Brilliant Friend ที่ตัวละครเอกของเรื่อง มาจากครอบครัวช่างทำรองเท้าแบรนด์ Christian Louboutin ลักชัวรีแบรนด์ระดับโลก เพียงไม่กี่แบรนด์ที่ยังคงของดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งจริงๆ อย่างไรก็ดีนักออกแบบชาวฝรั่งเศสผู้นี้ เคยยอมรับว่าเขาเคยมีความคิดที่จะขายลิขสิทธิ์ (licencing) ชื่อ Christian Louboutin ให้กับนายทุนเพื่อเอาไปแปะสินค้าต่างๆ ตั้งแต่แว่นตาไปจนถึงเสื้อผ้า โชคดีเขากลับใจ เสียก่อน ลูบูแตงยังคงยึดมั่นกับการออกแบบและผลิตรองเท้าระดับ ไฮเอนด์ ‘ผมไม่มีวันทำไลน์สินค้าราคาถูกเด็ดขาด’ ดีไซเนอร์ เคยกล่าวไว้กับนักข่าวเพราะความชื่นชอบในการทำรองเท้า เขาเริ่มฝึกงาน ก่อตั้งแบรนด์ในปี 1991 ใช้เวลาเพียงไม่นานเขาก็กลายเป็นนักออกแบบรองเท้าชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก รายชื่อลูกค้า ที่หลงใหลรองเท้าส้นเข็มสูงพื้นสีแดงสดมีตั้งแต่ เจ้าหญิงแคโรไลน์ แห่งโมนาโก, คาทรีน เดอเนิฟ, มาดอนน่า, ทีน่า เทอร์เนอร์ ฯลฯ ความโดดเด่นของ คริสติยอง ลูบูแตง คือความโฉบเฉี่ยวของดีไซน์ เส้นสายของรองเท้าที่มีความเย้ายวน ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกว่าเซ็กซี่สุดๆ นอกจากนี้ยังผลิตด้วยวัสดุคุณภาพสูงโดยช่างฝีมือที่ชำนาญ และ องค์ประกอบที่สำคัญคือพื้นรองเท้าแล็กเกอร์สีแดงสดที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์
การทำรองเท้าผู้ชายนั้นมีขั้นตอนที่แตกต่างจากรองเท้าผู้หญิงในหลายรายละเอียดและคริสติยอง ลูบูแตง เป็นคนที่ไม่ประนีประนอมเรื่องคุณภาพ เขาจึงเสาะหาผู้ผลิตรองเท้าผู้ชายที่มีคุณภาพอยู่นาน จนกระทั่งเจอโรงงานผลิตรองเท้าหนังเล็กๆ ในเมืองนาโปลี ซึ่งบริหารงานโดยครอบครัวช่างทำรองเท้ามานานกว่า 3 เจเนอเรชั่น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาช่างทำรองเท้าคุณภาพในระดับท็อปในยุคนี้ แม้ว่าอิตาลีจะขึ้นชื่อเรื่องงานฝีมือ แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือเหมือนเช่นเดียวกับ หลายประเทศทั่วโลก หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะสานต่องานฝีมือ แต่โรงงานแห่งนี้ยังสามารถรักษาช่างระดับครูไว้ได้ เราพบช่างฝีมือ พ่อลูกคู่หนึ่งในโรงงาน การได้เห็นการส่งผ่านทักษะการทำรองเท้าหนังชั้นสูงถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นนั้นเป็นภาพที่น่าประทับใจ
วันที่เราไปเยี่ยมชมโรงงาน เป็นช่วงเวลากลางฤดูร้อน อากาศจึงอบอ้าวเป็นพิเศษ แม้ว่าเราจะเห็นเครื่องจักรหลายตัววางอยู่ ทั่วโรงงาน เราสามารถพูดได้เต็มปากว่า โรงงานแห่งนี้ ผลิตรองเท้าแบบแฮนด์เมดจริงๆ เพราะช่างฝีมือที่ทำงานร่วมกับเครื่องจักร เหล่านั้นต้องใช้ทักษะของมนุษย์ที่มีความแม่นยำสูง ตัวอย่างเช่น ขั้นตอนการเจียรขอบรองเท้า หากผิดพลาดแค่นิดเดียวก็อาจต้องทิ้งรองเท้าข้างนั้นไปเลย หรือขั้นตอนการตัดหนัง ที่ถือว่าเป็นหนึ่งใน ขั้นตอนที่ต้องใช้ความชำนาญมากที่สุด เริ่มจากตรวจสอบริ้วรอยของหนังที่ได้มาว่าสม่ำเสมอกันหรือไม่ ก่อนจะวางแพทเทิร์นรองเท้า ลงไป ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยเฉพาะหากเป็นหนังจระเข้ที่มีราคาแพงแล้ว การตัดสินใจพลาดนิดเดียวหมายถึงต้องเสียเงินหลายร้อยยูโร ช่างตัดต้องเลือกวางแพทเทิร์นลงบนหนังที่มีลวดลายใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะลายบนผิวหนังของจระเข้ แต่ละตัวนั้นแตกต่างกัน ไม่ต่างจากลายมือของคน หลังจากที่ตัดหนังตามแพทเทิร์นที่วางไปแล้ว ก็สู่กระบวนการการประกอบร่างขึ้นรูปให้เป็นรองเท้า ซึ่งแยกย่อยหลายขั้นตอน และใช้ช่างฝีมือหลายคนที่ชำนาญเฉพาะขั้นตอนนั้นจริงๆ การใส่ไม้ก๊อกลงไปในส้นรองเท้าเพื่อซับแรงกระแทก เป็นเทคนิคการผลิตรองเท้าคุณภาพสูงแบบโบราณที่แทบหาไม่ได้ ที่ไหนอีกแล้วถึงจะเป็นรองเท้าของผู้ชาย แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือพื้นรองเท้า สีแดงเป็นซิกเนอเจอร์ของแบรนด์ พื้นรองเท้าแล็กเกอร์สีแดงสดของ คริสติยอง ลูบูแตง ผลิตแยกต่างหากจากที่อื่น ด้วยกระบวนการ อันซับซ้อนและเป็นความลับ พื้นผิวแล็กเกอร์มันวาวถูกปกป้องด้วย แผ่นฟิล์มอย่างทะนุถนอม จะถูกลอกออกในขั้นตอนสุดท้าย คือตอนแพคใส่กล่อง
ความแตกต่างอีกอย่างของขั้นตอนการทำรองเท้าที่โรงงาน แห่งนี้คือจะทำสีเป็นขั้นตอนท้ายสุด หลังจากที่ตัดเย็บเสร็จสิ้นแล้ว ในขณะที่โรงงานผลิตรองเท้าทั่วไปมักจะนำหนังที่ฟอกย้อมสีเสร็จสมบูรณ์มาตัดเย็บ ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน นั่นคือรองเท้าแต่ละคู่จะมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง สิ่งที่ทำให้เราแปลกใจคือช่างทำสีแต่ละคนจะมีแชมเปญขวดใหญ่วางอยู่ พวกเขาคงไม่ได้จิบแชมเปญสร้าง ความรื่นรมย์ คำตอบที่ได้คือการขัดผิวรองเท้าต้องใช้น้ำยาพิเศษ ที่ใช้ร่วมกับแชมเปญ…ใช่ แชมเปญจากฝรั่งเศสเท่านั้น Prosecco จากอิตาลีก็ไม่ได้ เพราะจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน หลังจากที่ลงสีเรียบร้อยแล้ว ช่างจะใช้ถุงน่องขัดให้หนังขึ้นเงามันวาว คุณอ่านไม่ผิดหรอกว่า ‘ถุงน่อง’ ช่างทำรองเท้าที่ทำงานที่นี่มากว่า 30 ปี บอกกับเราว่าถุงน่องของผู้หญิงมีเนื้อผ้าละเอียดเหมาะกับการขัดรองเท้าหนังเป็นที่สุด!
เราได้พูดคุยกับเจ้าของโรงงานผู้ดูแลกิจการเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 เธอบอกว่าความท้าทายของการทำรองเท้าให้กับ คริสติยอง ลูบูแตง คือดีไซเนอร์จากฝรั่งเศสผู้นี้ต้องการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ใช้วัสดุใหม่ๆ ผสมผ้าและหนังเข้าไว้ด้วยกัน จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตรองเท้าให้สอดคล้องกับจินตนาการของลูบูแตง โดยที่ยังคงต้องรักษาคุณภาพไว้ให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ความสามารถของช่างฝีมือเกิดจากประสบการณ์และจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดมายังรุ่นสู่รุ่น ความสัมพันธ์ของตาและมือที่แม่นยำ ความสามารถในการปรับตัวต่อความผิดพลาด (adaptability) ของมนุษย์นั้นเหนือกว่าคอมพิวเตอร์หลายขุม เราเชื่อว่าต่อให้เครื่องจักรกลที่ฉลาดที่สุดก็ไม่สามารถเลียนแบบทักษะของช่างอิตาเลียนเหล่านี้ได้
Content by Editorial Team, Photography by Paolo Ferrarini