ถ้าให้พูดถึงเดือนสิงหาคม นอกจากสภาพฟ้าฝนคะนองอันหนาวเหน็บเปียกปอน สิ่งแรกที่ทุกคนมักจะนึกถึงในทุกๆ เดือนแปดของแต่ละปีคือบรรยากาศอบอุ่นสวนทางดินฟ้าอากาศของ “วันแม่แห่งชาติ” สำหรับคอภาพยนตร์เดนตายอย่างเรา เพื่อให้เข้ากับกลิ่นอายบรรยากาศของ “วันแม่แห่งชาติ” ภาพยนตร์ที่เราควรเลือกชมในช่วงนี้ก็น่าจะเกี่ยวกับกับเรื่อง “แม่” อยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้เราพูดแนะนำภาพยนตร์เชิดชู “พระคุณแม่” กันแบบโต้งๆ ในแบบที่นั่งดูกับบุพการีแล้วมีน้ำตาซึม ก็ฟังดูน่าเบื่อเกินไปสำหรับคนแนวๆ อย่างเรา ด้วยเหตุนี้เราเลยนึกถึงภาพยนตร์ที่น่าสนใจและมาพร้อมกับชื่อเรื่องที่แปลว่า “แม่” จากสองฝั่งฟากโลกมาฝากให้เลือกชมกันแบบสองเรื่องควบ ส่วนจะเหมาะเอาไว้นั่งดูกับแม่ที่บ้านหรือเปล่า…ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่านจะพิจารณาเอาก็แล้วกัน
สำหรับภาพยนตร์ “วันแม่” เรื่องแรกที่เราอยากยกมานำเสนอนั้น มาจากประเทศเกาหลีใต้และเป็นผลงานภาพยนตร์โดยผู้กำกับตัวท็อปของวงการภาพยนตร์เกาหลีอย่างบองจุนโฮ หลังจากที่ภาพยนตร์สัตว์ประหลาดฟอร์มยักษ์อย่าง “The Host” (2006) ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ด้วยประเด็นวิพากษ์สังคมเกาหลีใต้ยุคหลังอาณานิคมผ่านมุมมองแบบตลกร้ายได้อย่างเผ็ดร้อน ต่อมาในปี 2009 บองจุนโฮก็ปล่อยผลงานเรื่อง “Mother” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สี่สู่สายตาผู้ชม โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้ร่วมฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 62 (ปี 2009) ในสายประกวด Un Certain Regard ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีรางวัลติดมือมาจากเทศกาล แต่สองนักแสดงนำในบทแม่ลูกอย่างคิมเฮจาและวอนบินก็ ก็ได้รับคำชมอย่างล้นหลามเลยทีเดียว
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของแม่ม่ายนิรนามฐานะยากจน ผู้หาเลี้ยงชีพตัวเองและลูกชายสติไม่สมประกอบด้วยการเก็บสมุนไพรมาขายและรับจ้างฝังเข็มรักษาโรค อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุฆาตกรรมนักเรียนสาวในเมืองที่ทั้งสองอาศัยอยู่ ลูกชายของเธอตกเป็นผู้ต้องสงสัย ด้วยความรักของความเป็นแม่ ทำให้ตัวเธอเองต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้กับลูกชาย เรื่องราวฟังดูเหมือนจะเป็นภาพยนตร์ดราม่าซาบซึ้งซึ่งเชิดชูความสัมพันธ์อันสวยงามระหว่างแม่ผู้จริงจังกับลูกชายอันเป็นที่รัก แต่กับ “Mother” บองจุนโฮเลือกนำเสนอประเด็นนั้นผ่านการดำเนินเรื่องราวตามแบบฉบับภาพยนตร์สืบสวน “ใครเป็นคนทำ” (Whodunit) เช่นเดียวกับภาพยนตร์สืบสวนรื่องก่อนหน้าของผู้กำกับเองอย่าง “Memories of Murder” (2003) ที่มีเส้นเรื่องของการสืบหาความจริงอันสุดแสนจะดำมืด นอกจากนั้นบองจุนโฮก็ยังบ่งบอกความเป็นตัวของเขาเองในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยการใส่ความเป็นตลกร้ายให้เราได้เห็นอยู่ตลอด เพราะนอกจากจะใช้เสียดสีเหน็บแนมประเด็นร่วมสมัยต่างๆ ได้อย่างแยบคายแล้ว องค์ประกอบ “ชวนเหวอ” เหล่านี้ยังทำหน้าที่สร้างระยะให้ผู้ชมได้ถอยตัวเองออกไปจากเรื่องราวภาพยนตร์เป็นระยะๆ เพื่อตรึกตรองกับตัวเองถึงคำถามในเรื่องความเหมาะสมและขีดจำกัดของ “ความเป็นแม่” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหมัดฮุคกระแทกใจที่ทางผู้กำกับตั้งใจโยนทิ้งไว้ให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดกันต่อไปหลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้
ภาพยนตร์ชื่อ “แม่” อีกเรื่องที่เราอยากพูดถึงคือ “Mommy” ผลงานของซาวิเยร์ โดลองที่ออกฉายในปี 2014 ด้วยวัยเพียงแค่ 26 ปี แฟ้มสะสมผลงานของผู้กำกับหนุ่มที่ผันตัวจากการเป็นนักแสดงผู้นี้ค่อนข้างสวยหรูเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ผลงานของเขาได้รับคัดเลือกให้ร่วมฉายมาแล้วในทุกระดับ พ่วงด้วยตำแหน่งคณะกรรมการตัดสินของสายประกวดหลักเทศกาลเมื่อต้นปี 2015 นี้ไปหมาดๆ ทั้งหมดนี้ทำให้ซาวิเยร์ โดลองกลายเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรงที่น่าจับตามองแห่งยุคที่โดดเด่นในด้านการหยิบยกประเด็น “ความสัมพันธ์ในครอบครัว” มานำเสนอและสไตล์การเล่าเรื่องอันแสนฉูดฉาดแต่หนักแน่น ชวนให้นึกถึงผลงาน “กลิ่นอายแบบยุโรป” ของผู้กำกับรุ่นลายครามอย่างมิคาเอล ฮาเนอเกอ อย่างที่ทราบกันดีว่า “Mommy” เป็นภาพยนตร์เจ้าของรางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 64 ร่วมกับภาพยนตร์ “Goodbye to Language” ของผู้กำกับชั้นครูฌอง ลุค โกดาร์ด นอกจากนั้นยังเป็นตัวแทนภาพยนตร์จากประเทศแคนาดาเพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศครั้งล่าสุดด้วยแต่หลุดโผโค้งสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย
“Mommy” ทำให้เรานึกถึงภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง “I Killed My Mother” ซึ่งได้รับคัดเลือกให้ร่วมฉายในสาย Directors’ Fortnight ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปี 2009 หลังจากที่หันไปเล่นกับประเด็นเพศทางเลือกในภาพยนตร์ช่วงหลังๆ นับได้ว่า “Mommy” คือการหวนคืนมากำกับภาพยนตร์ที่มีประเด็นหลักเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง ”แม่กับลูก” อีกครั้งหนึ่งของซาวิเยร์ โดลอง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของดีอาน (ที่ใครๆ เรียกว่า “ดี” ในเรื่อง) แม่ม่ายที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูสตีฟ ลูกชายวัยรุ่นของเธอผู้มีอาการสมาธิสั้นขั้นรุนแรง ซึ่งไม่ว่าอาการของสตีฟจะรุนแรงหนักหนาสักแค่ไหน คนเป็นแม่ก็พร้อมที่จะยอมรับและห่วงใยดูแลเขาอยู่เสมอ ด้วยเรื่องราวสุดแสนจะลึกซึ้งตรึงใจแบบเรียบง่ายตรงไปตรงมา (และที่สำคัญคือไม่พยายามขยี้อารมณ์ผู้ชมจนเกินไป) ขับเคลื่อนด้วยการแสดงอันทรงพลังของนักแสดงนำ พ่วงด้วยสไตล์แอบเก๋กับการเลือกใช้ภาพอัตราส่วน 1:1 ซึ่งเป็นการแหวกขนบการถ่ายภาพยนตร์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นอัตราส่วนภาพ 1.85:1 (หรือ 2.35:1) ทำให้ภาพออกมาเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัสแทนที่จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบที่เราคุ้นกัน โดยผู้กำกับเองอธิบายว่ามุมมองแบบนี้ทำให้ไม่มีอะไรมารบกวนสมาธิให้ผู้ชมวอกแวกไปกับสิ่งที่อาจปรากฎทางซ้ายหรือทางขวาของจอภาพยนตร์และทำให้สามารถมองเห็นและสัมผัสตัวละครได้ตรงตามจริงที่สุด ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ยิ่งทำให้ผลงานชิ้นล่าสุดของซาวิเยร์ โดลองเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ประเด็นความสัมพันธ์แม่ลูกธรรมดาที่ “ล้ำ” และ “ลึก” เกินธรรมดาและน่าจะเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ “วันแม่” ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจประจำปีนี้