เมื่อปี 2006 ปีแรกที่เริ่มต้น TOMS พวกเขาขายรองเท้าได้ 10,000 คู่ พวกเขาจึงกลับไปที่อาร์เจนติน่าเพื่อมอบรองเท้าอีก 10,000 คู่ ให้กับเด็กๆ จนถึงปี 2014 TOMS แจกรองเท้าไปแล้ว 15 ล้านคู่…
ฮาจิเม บรินบัม International Sales and Marketing Director ‘TOMS’ (ทอมส์) ย้อนความถึง One for One แคมเปญที่ทำให้ทอมส์กลายเป็นที่นิยมถึงขั้นได้รับนิยามว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งแนวใหม่แห่งอนาคต และ เบลค ไมโคสกี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้รับการยกย่องจากอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ว่าเป็น ‘One of the most intersting entrepreneurs (I’ve) ever met’
เด็กๆที่ได้รับรองเท้าไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะได้คู่เดียวแล้วจบนะ แต่ทอมส์ยังมอบรองเท้าที่โตไปตามตัวของเด็กจนถึงวัยหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าการให้แบบ One for One ของทอมส์นั้นกลายเป็นระบบที่จริงจังมาก หลายคนคงทราบแล้วว่ารองเท้าทอมส์เกิดขึ้นในปี 2006 โดย เบลค ไมโคสกี ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งซึ่งออกเดินทางไปอเมริกาใต้และตั้งใจเพียงว่าจะไปเรียนโปโลที่อาร์เจนติน่า ที่นั่นเขาได้พบกับ 2 สิ่งซึ่งเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล คือเด็กๆที่วิ่งเล่นและไปโรงเรียนโดยไม่มีรองเท้าใส่ เป็นภาพที่สั่นสะเทือนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเบลค ในประเทศที่เขาจากมา รองเท้าเป็นเครื่องแต่งกายพื้นฐานที่ทุกคนคุ้นชิน เด็กๆในอาร์เจนติน่า ทำให้เขาได้รู้ว่า คนมีรองเท้าใส่ทุกวันค่อนโลกไม่เข้าใจหรอกว่า ‘รองเท้า’ มีความหมายต่อชีวิตมากแค่ไหน และเบลคอยากทำอะไรสักอย่างที่ช่วยให้เด็กๆเหล่านี้มี ‘พื้นฐาน’ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในขณะเดียวกับที่เขามองเห็นเด็กๆที่ไม่มีรองเท้าใส่ เบลคยังสังเกตเห็น อัลปาร์กาต้า (Alpargata) รองเท้าผ้าใบท้องถื่นของอาร์เจนติน่า ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ช่วงปี 1830 ผลิตขึ้นในหมู่แรงงานที่ต้องการรองเท้าทนทาน ราคาถูกและเบาสบาย แถมยังมีดีไซน์คล้ายกับรองเท้าคู่โปรดของเขาเองด้วย เบลคจึงไปหาคนท้องถิ่น ขอร้องให้สอนเขาทำรองเท้าและกลับมายังอเมริกาพร้อมรองเท้าจำนวนหนึ่งภายใต้แบรนด์ทอมส์กับโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม One for One รองเท้าทุกคู่ที่คุณซื้อไปเราจะบริจาครองเท้าให้กับเด็กด้วยอโอกาส
และตอนนี้ทอมส์ได้ขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่คือแว่นกันแดดและกรอบแว่นสายตา ซึ่งก็ยังคงเป็นคอนเซ็ปต์ One for One ที่ไม่ได้แค่มอบแว่นตาให้ แต่เปิดโอกาสรักษาดวงตาให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนหมอและเทคโนโลยีในการรักษา โดยทอมส์ติดต่อกับองค์กรท้องถิ่นเพื่อจัดหาหมอและอุปกรณ์ในการรักษาผู้มีความผิดปกติด้านการมองเห็น ตั้งแต่การตัดแว่นสายตาไปจนถึงการผ่าตัดรักษาต้อกระจก ดังนั้นจึงเรียกมันว่า ‘การมอบโอกาสในการมองเห็น ไม่ใช่แค่การมอบแว่นตา’
อีกผลิตภัณฑ์ที่ทอมส์กำลังศึกษาคือกาแฟ แต่กระบวนการผลิตกาแฟที่ดีควบคู่ไปกับโมเลธุรกิจที่ให้ความเป็นธรรมต่อแรงงานและกลไกการกำหนดราคากาแฟในตลาดขณะนี้ยังมีความซับซ้อน กาแฟจากทอมส์จึงยังต้องใช้เวลาหาทางออกสู่ตลาด เพื่อจะดำเนินโครงการ One for One เพราะเด็กกว่า 780 ล้านคนทั่วโลก ขาดแคลนน้ำที่สะอาดในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอีกหนึ่งรูปแบบของ TOMS ที่ให้ความสำคัญกับเด็กที่ยากไร้เหล่านี้ โดยการซื้อกาแฟ TOMS 1 ถุง จะมีการนำน้ำดื่มไปให้กับเด็กๆที่ยากไร้ ในประเทศที่ขาดแคลน น้ำสะอาดสำหรับดื่ม
หลายคนอาจจะบอกว่า One for One เป็นแค่อีกรูปแบบของการตลาด ข้อที่เราจะแย้งได้คือ เขาไม่ได้สักแต่ว่าให้นะครับ เขาให้อย่างมีความรับผิดชอบด้วย ซึ่งอันนี้ก็มาจากประสบการณ์ตรงของเขาเอง ครั้งแรกในการบริจาคเขาไม่ทันได้นึกถึงผลที่จะตามมาด้วยซ้ำ แต่หลังจากนั้น ได้ร่วมทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐบาลหรือเอ็นจีโอ ศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริจาคเหล่านั้น ในครั้งถัดมาเราจึงพัฒนาโดยเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในกระบวนการบริจาคของเขา เช่น ก่อนที่คุณจะมารับรองเท้า คุณต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้เห็นการเติบโตของเด็กๆ ในพื้นที่แล้ว ยังทำให้หน่วยงานในท้องถิ่นได้รับข้อมูลทางด้านสุขภาพ สำมะโนประชากร หรือข้อมูลด้านอื่น ที่สามารถนำไปพัฒนาชุมชนต่อไปได้ และคนที่ซื้อรองเท้าทอมส์ไปก็จะสามารถแน่ใจได้ว่า การบริจาคของพวกเขาเป็น ‘การให้’ อย่างสมบูรณ์แบบ