‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’
นี่คือพระปฐมบรมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่คนไทยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และวันนี้พระราชกรณียกิจซึ่งทรงกระทำ ทุกพระบรมราโชวาทล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนไทย อย่างแท้จริง
นับเป็นบุญอันล้นพ้นของคนไทย ที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ได้มีพระองค์เป็นหลักชัย เป็นตัวอย่างให้ได้ดำเนินรอยตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบรมราโชวาทที่พระองค์ทรงตรัสไว้ คือสิ่งล้ำค่าที่ชาวสยามน้อมรับ
20 พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
1. อดทน ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม
‘สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือมันครึนะ ทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึ ต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอน ในความอดทนของตน ในความเพียรของตน ต้องถือว่าวันนี้เรายังไม่ได้ผล อย่าไปท้อ บอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราก็ต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ ผลอาจปีหน้า หรืออีกสองปี หรือสามปีข้างหน้า’
2. การให้ คือเครือ่งประสานไมตรี
‘คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใดโดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ ระหว่างบุคคลกับบุคลคล และให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม’
3. เอื้อเฟื้อมุ่งดีต่อกัน สังคมก็จะร่มเย็นและน่าอยู่
‘สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่’
4. ความสุจริตและความมุ่งมั่น จึงจะทำงานสำคัญได้สำเร็จ
‘คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชนืส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ’
5. มีการศึกษาสูง แต่ไม่ปฏิบัตดี ปฏิบัติชอบ ก็ไม่มีความเจริญ
‘แม้จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงเพียงใด ถ้าบกพร่องต่อการประมาณตนในทางปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ วิชาต่างๆ ที่ได้เล่าเรียนมาจนสำเร็จนั้นก็ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถจะนำความเจริญมาสู่ตน และเทศชาติสมดังความปรารถนา’
6. มีความรู้ ความสามารถ หากไม่ลงมือทำ ก็ไร้ประโยชน์
‘ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือทำ เมื่อยังไม่ลงมือทำ ประโยชน์นั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถึงหากจะมีความรู้ความสามารถมามายเพียงใด ถ้าไม่นำมาลงมือทำ ก็ปราศจากประโยชน์’
7. ความสุขความเจริญ พีงแสวงหามาด้วยความเป็นธรรม
‘ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้นหมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคล แสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น’
8. แม้ความดีทำยาก และเห็นผลช้า ก็จำเป็นต้องทำ
‘การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว’
9. รู้จักผิดชอบชั่วดี ซื่อสัตว์สุจริต ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มักง่าย และขยันหมั่นเพียร
‘คุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ที่สำคัญได้แก่ ความรู้จักผิดชอบชั่วดี ความละอายชั่วกลัวบาป ความซื่อสัตว์สุจริต ทั้งในความคิดและการกระทำ ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ความไม่มักง่าย หยาบคาย กับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือความขยันหมั่นเพียร’
10. การวางตนอย่างเหมาะสม เป็นคุณธรรม นำไปสู่ความมั่นคง
‘การวางตนได้สมั่ำเสมออย่างเหมาะสมคือ ไม่ทำตัวให้ดีเด่นเกินกว่าผู้อื่น และไม่ด้อยต่ำทรามไปจากหมู่คณะ หมู่คณะใดมีคุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ดังกล่าว หมู่คณะนั้นย่อมจะมีความมั่นคง’
11. อย่ามีอคติ เพราะอคติก่อให้เกิดความผิดพลาดได้
‘อคตินั้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มองไม่เห็นทาง เพราะลำเอียงเข้าข้างตัวเอง ด้วยอำนาจความรักบ้าง ความชังบ้าง ความหลงใหลบ้าง เมื่อเกิดอคติแล้วก็จะทำให้สับสนในเหตุและผล ไม่ทำตามเหตุผลและเมื่อไม่ทำตามเหตุผล ความผิดพลาดก็ต้องเกิดขึ้น’
12. ใช้ความสามารถและความรอบคอบในการไปให้ถึงจุดหมาย
‘การจะไปให้ถึงจุดหมายต้องใช้ความสามารถและความรอบคอบระมัดระวังมาก ตั้งแต่เริ่มต้นตลอดไปจนถึงที่สุด แรกเริ่กก็ต้องพิจารณาหาทางที่ถูกและที่เหมาะที่สุดเป็นทางเดิน เมื่อไปถึงทางแยกทางร่วม จะเดินไปได้เป็นสองทาง สามทาง ก็ต้องใช้ความรู้ความฉลาดตัดสินว่าควรจะเลือกไปทางไหน จึงจจะสะดวก ปลอดภัย ไปถึงที่หมาย’
13. มีความตั้งใจในการตั้งต้นงาน
‘การตั้งต้นงานนี้สำคัญที่สุด คำว่า “ตั้ง” นั้นก็มีไว้ เพราะว่าสำหรับทำงานใดๆ ก็จะต้องมีความตั้งใจ ตั้งใจนั่นก็คือ ตั้งใจทำงาน เอาใจตั้งในงาน หรืออีกอย่าง เอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจ เมื่อเอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจ หรือเอาใจตั้งไว้ในงานนั้น เชื่อว่างานก็คงจะสำเร็จลุล่วงไปได้โดยดี’
14. มัวแต่คิด แต่ไม่ลงมือทำ จะไม่มีอะไรสำเร็จ
‘ถ้ามัวแต่ไปคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จหรอก คิดอะไรก็ทำไปเลย ผิดถูกค่อยแก้ไป เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ ได้ออกมาเอง ถ้ามัวแต่คิด แต่ไม่กล้าทำ ไม่ลงมือทำ มันก็จะไม่มีอะไรสำเร็จสักอย่างเดียว’
15. ตั้งใจทำงานให้บรรลุผลอย่างซื่อสัตย์ แม้อยู่ท่ามกลางความขาดแคลน
‘แม้จะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล จงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์’
16. ไม่โลภมาก ก็อยู่เป็นสุข
‘คนเราถ้าพอใจในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด คิดอันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็ไม่อยู่เป็นสุข’
17. การกู้เงิน ต้องนำมาใช้ในสิ่งที่ทำให้มีรายได้
‘การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำให้รายได้นั้นไม่ได้ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ’
18. มีสัมมาคารวะ อ่อนโยน และพร้อมเสียสละเพื่อส่วนรวม
‘ในวงสัมคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนร่วม’
19. ผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เป็นผู้มีประโยชน์ต่อสังคมและเป็นผู้น่าคบหา
‘การกีฬานั้น นอกจากจะให้ความสนุกสนานและความสมบูรณ์แก่ร่างกายแล้ว ยังให้ผลดีทางจิตใจได้อย่างมากมายนักกีฬาที่ได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างดีแล้ว ย่อมมีใจแน่วแน่ ตัดสินใจได้รวดเร็ว มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอย และมีความหนักแน่น รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย ผู้มีใจเป็นนักกีฬา จึงเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคมและน่าคบหาสมาคมด้วอย่างยิ่ง’
20. จะปักใจเชื่ออะไรต้องใช้สติ และค้นคว้าไตร่ตรองให้แน่ใจว่าเป็นความจริง
‘โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้นก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรลงไป ควรพิจารณาดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุธรเจ้ายังทรงแนะนำให้ใช้สติและปัญญาศึกษาค้นคว้า และไตร่ตรองให้แน่ว่า คำสั่งสอนนั้นเป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่ ไม่ใช่สักแต่ว่าเชื่อเพราะว่ามีผู้รู้บัญญัติไว้’