พูดคุยกับป็อป – พิชชากร รามบุตร ผู้ชนะเลิศโครงการ ‘5 ปีแห่งความสำเร็จ 5 เดือนของการแบ่งปัน’

Share This Post

- Advertisement -

ในโอกาสที่โรงแรม The Okura Prestige Bangkok เปิดทำการมาครบห้าปี ทางโรงแรมจึงได้จัดโครงการ ‘5 ปีแห่งความสำเร็จ 5 เดือนของการแบ่งปัน’ จัดโครงการดีๆ คืนสู่สังคมติดต่อกันห้าเดือน โดยการแข่งขันทำอาหารเพื่อเลือกเฟ้นผู้ชนะไปศึกษาดูงานที่ Hotel Okura Amsterdam เป็นเวลาเก้าวัน ซึ่งป็อป – พิชชากร รามบุตร เชฟเลือดใหม่สายตามุ่งมั่นได้รับรางวัลนี้ไปอย่างไร้ข้อกังขา ลอปติมัมได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับเธอ (และมีโอกาสคุยกับเชฟนิก – ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ Executive Chef de Cuisine บริษัท ครัวกลาง 49 จำกัด ถึงความประทับใจที่มีต่อว่าที่เชฟดาวรุ่งของประเทศไทยคนนี้) และนำบทสัมภาษณ์ที่เต็มไปด้วยความหลงใหลศาสตร์แห่งการทำอาหารมาแบ่งปันกัน อย่างน้อยก็เพื่อให้ทุกคนเห็นตรงกันว่า การทำอะไรด้วยใจ และทำเต็มร้อยนั้น จะได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ

เท้าความกันสักนิดว่ารอบแรกของการประกวด ทางโรงแรมได้กำหนดให้เด็กที่สนใจเข้าร่วมโครงการถ่ายคลิปพร้อมส่งใบสมัครแนะนำตัวเข้ามา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมส่งคลิปประมาณ 18 คนจากจำนวนใบสมัครมากกว่า 20 ใบ ซึ่งกรรมการได้คัดเลือกเบื้องต้นจากคลิปดังกล่าว เหลือผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 10 คน ก่อนจะนำมาสอบสัมภาษณ์ ทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 5 คนสุดท้ายเพื่อฝึกฝนการเป็นเชฟที่ห้องอาหารยามาซาโตะ โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาสามอาทิตย์ โดยผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งห้าคนจะต้องเวียนไปฝึกทั้งหมด 5 สเตชั่นการทำอาหาร ซึ่งเปลี่ยนสเตชั่นทุกสามวัน ก่อนจะจบลงในรอบตัดสินโดยทำอาหารทั้งหมด 3 เมนู (ซาชิมิ ซูชิ / อาหารตุ๋น / Creation Menu) ให้กรรมการทดลองชิม ให้คะแนน และตัดสินผู้ชนะในที่สุด

และนี่คือคลิปแรกของเชฟป็อปที่ทำให้เธอถูกคัดเลือกมาเป็นหนึ่งในสิบผู้ผ่านรอบแรก

https://www.facebook.com/poppy.ppy/videos/10208933140660098/

เล่าให้เราฟังหน่อยว่าประสบการณ์ครั้งนี้ให้อะไรบ้าง

ตอนที่ได้ไปฝึกงานที่ Hotel Okura Amsterdam เราได้ไปฝึกทุกห้องเลย ทำอาหารหลากหลายไล่มาตั้งแต่เมนคิทเช่น รูมเซอร์วิส ไปจนถึงไฟน์ไดนิ่ง เป็นประสบการณ์ที่เปิดมุมมองอีกมุมหนึ่งในเรื่องการทำงาน เพราะเราเห็นได้เลยว่าพนักงานทุกคนตั้งแต่คนหน้าบ้าน พนักงานเสิร์ฟ ไปจนถึงทุกคนในครัวล้วนแล้วแต่ถูกเทรนมาอย่างดี ทุกคนมีความรู้มาก เราสังเกตุได้ถึงแพชชั่นของพวกเขาเหล่านั้น พวกเขาไม่ได้ทำงานเพราะต้องทำ แต่ทุกคนทำเพราะหลงใหล ในทีมมีกันทั้งหมดสิบคน ทุกคนทุ่มเทราวกับตัวเองเป็น Executive Chef ไม่เคยมีเวลาไหนเลยที่เรารู้สึกนับวันรอเวลางานจบสิ้น อยากกลับบ้านอะไรแบบนี้ งานครัวเริ่มบ่ายสอง บ่ายโมงทุกคนมาพร้อมกันหมดแล้ว พอถึงเวลาพัก ทุกคนจะรีบกิน แล้วรีบกลับมาทำงาน พอเราได้ไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น รู้สึกได้ว่าตื่นเต้นและประทับใจจริงๆ กระทั่งคนที่ทำรูมเซอร์วิสเองก็ยังหลงใหลในการทำอาหารกันอย่างจริงจัง

เริ่มต้นชีวิตในครัวได้อย่างไร

เราเป็นคนชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก คือชอบจริงจังมาตั้งแต่สมัยที่เทรนด์การเป็นเชฟยังไม่เกิดด้วยซ้ำ ชอบมาตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าเชฟคืออะไร รู้แค่ว่า ชอบทำอาหาร ชอบเข้าครัว พอมีคนถามว่า โตขึ้นอยากทำอะไร ก็ตอบว่าไม่เชฟก็สถาปนิก เพราะชอบวาดรูปด้วย พอโตมา แม่ก็ลองทดสอบความชอบโดยการจับไปอยู่ในครัวของ S&P พออายุได้ 15 ปีนี่ก็ทำงานจริงจัง กลับบ้านดึกๆ ทุกวัน พอแม่ถามว่าเป็นอย่างไร เราตอบว่าเหนื่อย แต่เราสนุกไง ไม่มีอาการอยากกลับบ้านก่อนเลิกงานเลย เราเลยมั่นใจแล้วว่าน่าจะมาสายนี้ เลยไปเรียนคอร์สอาหารไทยชาววังที่โอเรียนเต็ลอยู่ปีหนึ่ง หลังจากนั้นก็มาต่อที่ดุสิตธานีอีก 4 ปี ในระหว่างที่เรียนก็หลบไปทำงานบ้าง ฝึกงานบ้างตามร้านอาหารต่างๆ ที่เราสนใจในอาหารเค้า

มาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร

สารภาพเลยนะว่า ตอนอ่านรายละเอียดโครงการนี้ เราพูดกับเพื่อนสนิทเลยว่า นี่เป็นของของเรา คือ ต้องมีคนหมั่นไส้แน่ๆ แต่พออ่านรายละเอียดจบ เราตั้งใจทำคลิปเลย แบบตั้งใจมาก ขอยืมห้องครัวจากวิทยาลัย เอาห้องที่อาจารย์ใช้สอน ตั้งใจทำมาก พอผ่านเข้ามาจริงๆ เราคิดว่าความยากไม่ได้อยู่ที่การทำอาหาร แต่เป็นการสัมภาษณ์ระหว่างทาง และการพรีเซนต์ให้กรรมการฟัง คือ เราเป็นคนพูดได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่น่าจะสู้คนที่เขาพูดเก่งๆ ได้ คือ ยอมรับว่าแรงกดดันสูงมาก

คิดว่าข้อดีหรือโดดเด่นอะไรทำให้เราเป็นผู้ชนะรายการนี้

นอกจากเราจะเต็มที่กับทุกอย่างแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อมั่นในตัวเองคือเซนส์ในการเลือกใช้วัตถุดิบ ในรอบสุดท้าย เราคิดเมนูได้ก่อนวันแข่งแค่ 2-3 วันเท่านั้น เราคิดว่าวัตถุดิบตัวนี้มันน่าจะเวิร์ก เราโชว์เทคนิคบ้างเพื่อให้กรรมการประทับใจเรา วันสุดท้ายก่อนแข่ง เราได้คุยกับเชฟแอนโธนี หัวหน้าเชฟของที่นี่ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าประทับใจได้ เพราะเราไม่ได้มองเลยว่าพวกเขาเป็นกรรมการ แต่มองว่าพวกเขาเป็นลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้าน ดังนั้น เราต้องทำอาหารที่พวกเขากินแล้วประทับใจอะไรแบบนี้

คุณสมบัติที่ดีของการเป็นเชฟ

แพชชั่นเป็นตัวสำคัญในการผลักดันทั้งหมด อีกอย่างก็ความอดทน เราต้องยอมรับว่าอารมณ์เราไม่ได้คงที่ทุกวัน ต้องบังคับตัวเองให้ได้ว่าจะทำอะไรบ้างในแต่ละวัน และเวลาก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องบริหารเวลาให้ดี

แรงบันดาลใจสำคัญในการทำงาน

สิ่งที่เราชอบคือ การได้เห็นวัตถุดิบหนึ่งอย่างแล้วเปลี่ยนมันออกมาให้เป็นอาหารหนึ่งจานจากความคิดของเรา เราชอบอารมณ์ตอนนั้นมาก

วางแผนอนาคตอย่างไร

ตอนแรกอยากไปเรียนทำอาหารที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ตอนนี้เปลี่ยนใจอยากทำงานก่อน เริ่มสนใจการทำอาหารไทย และในท้ายที่สุดแล้ว อยากเป็นเจ้าของอาหารสักร้านหนึ่งที่ผสมความเป็นไทยกับเทคนิคล้ำสมัยของตะวันตกอย่างลงตัว เราเห็นว่าอาหารไทยจะเป็นแนวประดิษฐ์ประดอย ประณีต ส่วนตัวเราชอบแนวโมเดิร์นมากกว่า เลยอยากจะเอามาผสมกันให้เป็นตัวของตัวเอง

จากใจหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน

เชฟนิก – ณัฏฐพล ภวไพบูลย์

Executive Chef de Cuisine

บริษัท ครัวกลาง 49 จำกัด

“ผมไม่ได้รู้จักน้องเป็นการส่วนตัวมาก่อน ได้คุยกับเขาแค่ไม่กี่คำเท่านั้น แต่รู้ได้ทันทีว่าน้องเขามุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน และมีแพชชั่นรุนแรง เขาพรีเซนต์อาหารทุกจานที่ทำออกมาด้วยน้ำเสียงมั่นใจ ทำให้ผมรู้ว่าในการทำอาหารจานนั้น เขาต้องมีความมั่นใจในระดับหนึ่งแล้ว แน่นอนว่าในการแข่งขันแบบนี้ ทุกคนจะต้องมีกรอบอะไรบางอย่างให้เดินตาม แต่ด้วยลักษณะการจัดวางและการพรีเซนต์ของน้อง ทำให้กรรมการรับรู้ได้ว่าเขาตั้งใจ และภูมิใจกับอาหารทุกจานที่เขาทำ ดังนั้น ผมมองว่าน้องคนนี้มีโอกาสไปไกลได้มากกว่าการก็อปปี้สูตรอาหารคนอื่น เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่าน้องมีความพร้อมในทุกเรื่อง กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เขากล้าที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จึงสมควรให้โอกาสเขาครับ”

- Advertisement -