คนเลวไม่มีสิทธิเก่ง? เก่ง ลายพรางกับค่านิยมศิลปินต้องเป็นคนดีของประเทศไทย

Share This Post

- Advertisement -

Moral Trap for Thai Artist
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมศิลปินไทยต้องเป็นคนดี? เป็นคนไม่ดี แต่มีฝีมือ แล้วทำไมไม่ได้รับการยอมรับ? แต่ถ้าเป็นคนดี ฝีมือธรรมดา จะดูมีอนาคตมากกว่า? มาล้วงลึกการเมืองเบื้องหลังภาพลักษณ์ ‘คนดี’ ของศิลปินไทยไปพร้อมกัน

Michael Jackson (ไมเคิล แจ๊กสัน) John Lennon (จอห์น เลนนอน) Kurt Cobain (เคิร์ท โคเบน) Jimi Hendrix (จิมี่ เฮนดริกซ์) และ Amy Winehouse (เอมี่ ไวน์เฮ้าส์) เป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่ชื่อของศิลปินที่ได้รับการยอมรับในฝีมือและเป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงทั่วโลก ถึงแม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินที่สามารถผลิตผลงานที่โด่งดังและอยู่ในใจผู้ฟังเป็นจำนวนมาก แต่ในแง่ชีวิตส่วนตัวของศิลปินเหล่านี้อาจไม่ได้ปฏิบัติตนในครรลองตามหลักจริยธรรมสักเท่าไหร่ ทุกคนที่กล่าวถึงข้างต้น เคยมีปัญหาเรื่องการใช้ยาเสพติด บ้างมีข่าวชู้สาว พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อหน้าสาธารณะ แต่ดูเหมือนเรื่องเหล่านั้นไม่อาจบดบังความสามารถทางด้านดนตรีของพวกเขาได้ เพราะเหล่าแฟนๆ แม้แต่ในไทยเอง ก็ยังคงให้ความยอมรับในฝีมือและสามารถชื่นชอบตัวตนของศิลปินเหล่านี้ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง

ลองมามองมุมกลับจากนอกประเทศมาสู่ภายใน ข่าวฉาวของศิลปินไทยจำนวนไม่น้อยเมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล้ายา ความปากหมา การทะเลาะวิวาท เรื่องชู้สาวที่เกิดขึ้นแม้เพียงไม่กี่ครั้งหรือแค่ครั้งเดียว ก็อาจจะเพียงพอแล้วที่จะดับอนาคตการเป็นศิลปินของบุคคลผู้นั้น ด้วยข้อหาเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่สังคม ซึ่งหากวัยรุ่นยุค 90’s ยังจำกันได้ เสื้อสายเดี่ยวของศิลปินหญิงดูโอ้กลุ่มหนึ่งก็ได้สร้างปรากฏการณ์แตกตื่นในสังคมไทยมาแล้ว ด้วยความกลัวที่ว่าเยาวชนไทยในยุคนั้นจะเลียนแบบแห่กันไปใส่สายเดี่ยวเกาะอก ทั้งยังใช้ตรรกะ GAT/PAT เชื่อมโยงไปถึงว่าสิ่งเหล่านี้จะยั่วยุให้เยาวชนไทยจะมีพฤติกรรมไม่รักนวลสงวนตัวเสียตัวก่อนวัยเรียนตามมา

แล้วเหตุใด ทำไมศิลปินต่างประเทศที่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมถึงได้เป็นที่ยอมรับในหมู่แฟนเพลงเมืองไทยได้มากกว่าศิลปินไทย? แล้วทำไมศิลปินจะต้องเป็นตัวอย่างให้แก่เยาวชน?

หากลองเจาะลึกถึงในเชิงการเมือง ความต้องการของสังคมที่อยากให้ศิลปินเป็นตัวอย่างที่ดีในไทยนั้น เกี่ยวพันกับใช้อำนาจนำ (Hegemony) ทางวัฒนธรรมอยู่สูง เพราะการที่กลุ่มการเมืองใดๆ จะสามารถปกครองสังคมได้ จำต้องสามารถสถาปนาระบบคุณค่าของตน ไม่ว่าจะในเชิงศีลธรรม วัฒนธรรม ให้กลายเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันทั้งสังคม ศิลปินรวมถึงบุคคลสาธารณะในวงการต่างๆ จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้เป็นตัวแทนในการนำเสนอภาพบุคคลที่พึงประสงค์ของรัฐ เพื่อกล่อมเกลาคนในชาติโดยเฉพาะเยาวชนให้มีคุณลักษณะตามที่รัฐต้องการ ดังจะเห็นได้จากการสถาปนารางวัลจำนวนมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวงานเพลงแม้แต่น้อย หากแต่มุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมและระดับศีลธรรมของศิลปินเป็นจำเพาะ อาทิ รางวัลลูกกตัญญู ลูกตัวอย่างดีเด่น รางวัลศิลปินแบบอย่างที่ดีต่อสังคม คนดีศรีสยาม รางวัลศิลปินปลอดบุหรี่ ซึ่งไม่เพียงแต่รัฐเองจะให้ความสำคัญกับระดับจริยธรรมค่อนข้างสูง แนวคิดนี้ก็ได้เติบโตในคนทุกชนชั้นจนเป็นทัศนคติที่สังคมยึดถือแล้วว่า “จะเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นคนดีด้วย”

เราไม่ได้ปฏิเสธว่า ทุกคนควรเป็นคนดี แต่ด้วยกรอบความเป็นคนดีของไทยนั้น กลับถูกผูกติดหลอมรวมอยู่กับแนวคิดอนุรักษนิยมที่ไม่ได้นับรวม ความเสมอภาค เสรีภาพ การแสดงออก อยู่ในกรอบของความดีไปด้วย ทั้งยังยอมรับความขัดแย้งหรือเห็นต่างได้ค่อนข้างยาก กรอบของการเป็นคนดีที่ไม่เปิดกว้างเช่นนี้ ทำให้ศิลปินไม่สามารถสะท้อนตัวตน หรือความแตกต่างของโลกทัศน์ แม้แต่การยึดคุณค่าความดีคนละชุดกับสังคมกระแสหลัก ยังอาจถูกตีความว่าเป็นภัยคุกคามได้

เมื่อศิลปินไทยมีภาระทางจริยธรรมที่ต้องทำตัวดีตามขนบ หลีกเลี่ยงการสร้างดราม่า ประพฤติตนในกรอบกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ความคาดหวังให้ศิลปินต้องเป็นคนดีเช่นนี้ เป็นปัจจัยที่เจือจางบทบาทของศิลปินในฐานะคนทำเพลงให้น้อยลง แทนที่ด้วยการเป็นผู้บริการสังคม ที่นอกจากจะต้องให้ความบันเทิงแล้ว ยังต้องเป็นตัวอย่างให้เเก่เยาวชนอีกด้วย แต่ยิ่งเงื่อนไขของความเป็นคนดียิ่งมีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นข้อจำกัดในการแสดงออกมากขึ้น และปัญหาอย่างหนึ่งของเงื่อนไขการเป็นตัวอย่างที่ดีนี้ คือความสามารถในการแผ่ขยายขอบเขตออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด คือถือศีลห้าอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอ แต่อะไรที่สังคมไม่ชอบหรือแม้แต่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงก็ไม่ควรทำด้วย โดยในที่นี้ เราจะไม่พูดถึงเรื่องการใช้ยา เพราะแม้จะไม่มีกรอบจริยธรรมมาบังคับ เราก็ทราบกันดีว่าการใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่อย่างกรณีของเหล้าและบุหรี่ ที่หน่วยงานในราชการไทยได้ทำแคมเปญต่อต้านมาอย่างต่อเนื่อง ก็ได้ทำให้สองสิ่งนี้ได้เข้าไปอยู่ในลิสต์ของต้องห้ามสำหรับศิลปินไปแล้ว และก็ไม่มีใครรู้ว่าในภายภาคหน้าจะมีอะไรเพิ่มมาอีก หรือจุดจบจะอยู่ที่ตรงไหนก็สุดจะคาดเดา แต่จะว่าไปความตลกร้ายอีกอย่างก็คือ เราสามารถชื่นชมความปากหมาของ Oasis รักความเฮี้ยนของ Björk เอ็นดูความเกรียนของ Green Day และไม่สนว่า John Mayer จะมีทัศนคติต่อผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศขนาดไหน เราก็ยังสามารถเสพผลงานของพวกเขาต่อไปได้อย่างสบายใจ โดยไม่ไปตัดสินที่ตัวตนของพวกเขาอย่างที่ทำกับศิลปินในบ้านตัวเอง

มาถึงตรงนี้ บางท่านอาจคันปากอยากแย้งว่า นอกจากศิลปิน ทุกคนในสังคมก็ได้รับการคาดหวังให้เป็นคนดีเหมือนกัน – ตรงนี้ไม่เถียงเลย แต่ถ้ามองศิลปินในฐานะคนทำเพลงที่ผลิตผลงานเพลงซึ่งเป็นสินค้าชนิดหนึ่งออกมา มันกลับเป็นสินค้าที่ผูกติดกับตัวตนของผู้ผลิตมากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ กรอบของความดีแบบอนุรักษนิยมดังที่กล่าวมา จึงไม่เพียงแต่สร้างบรรทัดฐานของสิ่งที่ศิลปินควรจะเป็นเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อจำกัดในการทำงานเพลงด้วย

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อศิลปินไทยรับรูปแบบดนตรีแบบตะวันตกเข้ามาใช้ผลิตงาน ก็มักจะทำได้แค่หยิบยืมแบบฟอร์มหรือแนวเพลงมาใช้ แต่โดยตัวเนื้อหาเพลงนั้น สิ่งที่หาได้ยากคือการสะท้อนความเป็นปัจเจก ทั้งในแง่แนวคิดต่อประเด็นต่างๆ การปฏิสัมพันธ์กับสังคม เราจึงไม่อาจพบเห็นเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์หนักๆ อย่าง God Save the Queen หรือ Killing in the Name ในวงการเพลงไทย หากลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้า John Lennon เป็นคนไทย บทเพลงอมตะซึ่งแทบไม่มีใครไม่รู้จัก อย่าง Imagine คงไม่ได้ถือกำเนิดมาบนโลกนี้ ทำไมน่ะเหรอ ก็ดูเนื้อเพลงพี่แกสิ
“Imagine there’s no countries
It isn’t hard to do
Nothing to kill or die for
And no religion, too
Imagine all the people living life in peace”
ลองอิมเมจิ้นใช้จินตนาการกันว่า ถ้าพี่จอห์นเป็นศิลปินไทยแล้วจู่ๆ มาแหกปากบอกผู้คนว่า “เราไม่ต้องมีชาติ มีศาสนา แล้วโลกจะสงบสุข” พี่แกก็น่าจะอยู่ใน Line Up ศิลปินที่ถูกเชิญไปปรับทัศนคติ และอาจได้สิทธิ์แสดงสด Live in บางขวาง ตลอดชีพก็เป็นได้

กรอบคิดเกี่ยวกับการเป็นคนดีที่คับแคบและมองความแตกต่างเป็นปรปักษ์เช่นนี้ ได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฟอร์มเนื้อหาในเพลงออกมาในทิศทางเดียวกัน การนำเสนอทัศนะความคิดเห็นที่สุดโต่ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปรากฏได้ง่ายๆ หรืออาจถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ เลยไม่แปลกที่เราจะไม่มีศิลปินอย่าง John Lennon หรือ Rage Against the Machine ในวงการเพลงไทย เพราะกรอบความคิดดังที่กล่าวมา ไม่อนุญาตให้ศิลปินลักษณะนี้แจ้งเกิดได้

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำไมเพลงรักถึงเต็มตลาด เพราะนอกจากจะขายได้เรื่อยๆ เป็นคอนเซ็ปต์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่นอกเหนือไปจากนั้น เพลงรักเป็นเนื้อหาซึ่งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ปกป้องตัวศิลปินจากคำครหา เพราะต่อให้ศิลปินมีมุมมองต่อความรักเกรี้ยวกราด รุนแรงขนาดไหนก็ไม่มีใครว่าอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ที่ไม่กระทบกระทั่งต่อสังคมองค์รวมแต่อย่างใด แม้เราจะพบเห็นบทเพลงที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอยู่บ้าง ส่วนมากก็ทำได้แค่นำเสนอแนวคิดมวลรวมของสังคมกระแสหลักต่อเรื่องต่างๆ

แม้แต่เพลงของ Sepia ที่ได้รับการกล่าวขวัญกันในด้านความขบถ การเสียดสีสังคม และความรุนแรงในการนำเสนอ อาทิ เกลียดตุ๊ด และ Dead God ที่มีท่อนฮุคสุดฮิต “อย่างเธอต้องโดนข่มขืน” แต่สิ่งที่เพลงพังก์ร็อกของ Sepia ทำในแบบที่ไม่อาจหาได้ที่ไหนอีกเเล้ว คือการเอาดนตรีเเบบพังก์ที่ดิบเถื่อน หยาบกระด้าง มีภาพลักษณ์ต่อต้านสังคม และมีจุดกำเนิดจากการปฏิเสธขนบของ Rock n’ Roll มานำเสนอเพลงที่เนื้อในเป็นอนุรักษ์นิยมอย่างสุดกู่ ไม่ว่าจะเป็น การไม่ยอมรับเพศที่สามในเพลงเกลียดตุ๊ด (สังคมไทย ณ ตอนนั้นยังไม่มีกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ การบอกว่าเกลียดตุ๊ดในเวลานั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก) หรือ Dead God บทเพลงแสดงความปรารถนาที่จะลงโทษผู้หญิงแต่งตัวโป๊ด้วยการข่มขืน แม้เนื้อหาเพลงแบบนี้จะเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการเพลงไทย แต่ใจความสำคัญที่เตือนให้รักนวลสงวนตัว กลับเป็นสิ่งที่เราพบได้เกลื่อนกลาดในละครทีวี ที่จุดจบนางร้ายมักจะถูกลงโทษด้วยการละเมิดทางเพศ เพื่อสอนใจให้ผู้ชมโดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิงปฏิบัติตัวในกรอบจริยธรรมอันดีงาม บอกได้เลยว่า เพลงพังก์ที่มีเนื้อหาแบบนี้ Sex Pistols ก็ทำไม่ได้ The Clash เหรอ อย่าหวัง Conservative Punk เฉดนี้จะไปเจริญเติบโตที่ไหนได้ ถ้าไม่ใช่ประเทศไทย แม้แต่เพลงเเนวพังก์ที่อาจดูดื้อไปบ้าง แต่เนื้อในก็ยังเป็นเด็กดีที่รักษากรอบกฎเกณฑ์ของสังคม หาได้ไปแหกกรอบนอกคอกอย่างพังก์เมืองนอกเค้าเป็นกัน

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะบอกว่าศิลปินควรลุกขึ้นมาด่าทุกอย่าง แหกกฎเกณฑ์ของสังคม ฉีกกระชากชุดจริยธรรมทั้งหมดให้พังพินาศ แต่หากลองมองว่า Music is Expression ดนตรีและเสียงเพลงคือวิถีหนึ่งในการสื่อสาร เฉกเช่น งานเขียน ศิลปะ ภาพยนตร์ ศิลปินคนทำเพลงก็ควรที่จะมีอิสระในการนำเสนอสิ่งที่พวกเขาต้องการแสดงออกให้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่สามารถมองเเยกส่วนระหว่างตัวตนผู้ผลิตกับผลงานเพลงออกจากกัน เพราะเพลงที่ดีนั้น ก็อาจไม่ได้มาจากศิลปินที่ประพฤติตนดี การไม่ยอมรับผลงานเพลงของศิลปินบางคนเพราะเขามีลักษณะบางอย่างที่เราไม่พึงประสงค์ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

การเปิดพื้นที่การเเสดงออกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะกับคนทำเพลงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์ในสื่อชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ศิลปินอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีตามกฎเกณฑ์จริยธรรมเเบบเดียวกัน หรือกล่าวให้สุดโต่งที่สุดของที่สุด ศิลปินอาจไม่จำเป็นต้องยึดถือคุณค่าทางจริยธรรมแบบใดเลยก็ได้ หากพวกเขาสามารถรังสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพตามหน้าที่ของตน ก็ควรถือว่าพวกเขาได้ลุล่วงจุดประสงค์ของการทำงานในฐานะคนทำเพลงเเล้ว แต่หากเราปฏิเสธการมองเเยกส่วน ตัดสินคุณค่ากันที่ตัวตนหรือระดับค่าศีลธรรมของศิลปิน มิใช่ตัวงาน ก็ยากที่การสร้างสรรค์และการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ และเราก็คงต้องฟังเพลงที่มีเนื้อหาแบบเดิมๆ แต่เปลี่ยนภาชนะไปเรื่อยๆ วนกันไปอีกตราบนานเท่านาน

Content: Pinyuda Tancharoen
Photography: Getty Images

- Advertisement -